“บินไทย” ปลื้มแผนฟื้นฟูฯมาถูกทาง สภาพคล่องพุ่ง 3 หมื่นล้านกลับเข้าตลาดปี 68

“บินไทย” ปลื้มแผนฟื้นฟูฯมาถูกทาง สภาพคล่องพุ่ง 3 หมื่นล้านกลับเข้าตลาดปี 68

เศรษฐศาสตร์ “บินไทย” ยืนยันแผนฟื้นฟูกิจการฯเดินมาถูกทาง อุตสาหกรรมการบินฟื้น ส่งผลรายได้ทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ทำนิวไฮต่อเนื่อง ดันกระแสเงินสดสภาพคล่องในมือพุ่ง 3 หมื่นล้านบาท เดินหน้าเพิ่มทุนจดทะเบียน 31,500 ล้านหุ้น หรือประมาณ 336,000 ล้านบาท เป้าหมายใหญ่ผู้ถือหุ้นต้องมีทุนเป็นบวก เชื่อมั่น! ออกจากแผนฟื้นฟูฯ เร็วกว่ากำหนด กลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นได้อีกครั้งในปี 68 นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของการบินไทยภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ว่า ในปัจจุบันธุรกิจการบินได้กลับมาโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายสายการบินได้เพิ่มเส้นทางบิน และเพิ่มเที่ยวบิน ขณะที่การบินไทยขณะนี้ผู้โดยสารขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พบว่า ในปัจจุบันมีอัตราการบรรทุกปริมาณผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) หลังจากที่กลับมาทำการบินเฉลี่ยกว่า 70% ในทุกเส้นทางบิน ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร อยู่ใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดที่มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารสูงที่ 85% บินไทยผงกหัวรายได้พุ่ง–สภาพคล่องล้น “การฟื้นตัวของผู้โดยสาร ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานของการบินไทยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด โดยปัจจุบันการบินไทยทำรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 12,000 ล้านบาทต่อเดือน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดที่มีรายได้จากการดำเนินงานที่ 15,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดีขึ้นมากหากเทียบกับช่วงเกิดโควิด ซึ่งการบินไทยมีรายได้จากการดำเนินงานต่ำสุดที่ 200 ล้านบาทต่อเดือน” นายสุวรรธนะ กล่าวต่อว่า “สถานการณ์การบินไทยตอนนี้เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากจากเดิมทำการบินไม่ได้ รายได้แทบไม่มี ต้องดิ้นรนทำทุกอย่าง ขายเกือบทุกสิ่งที่มี เพื่อให้อยู่รอด มาวันนี้รายได้จากการดำเนินงานของการบินไทยต้องบอกว่าทำนิวไฮแทบทุกเดือน” เล่าให้ฟังง่ายๆได้ว่า การบินไทยเริ่มมีกำไรตั้งแต่เดือน พ.ค.65 ซึ่งเกิดขึ้นจากการปรับต้นทุนการบริหารงานค่าใช้จ่ายในทุกส่วน ขณะเดียวกัน การบินไทยยังคงทำทุกอย่างในการหารายได้เข้าบริษัทต่อเนื่อง เมื่อหักลบกับช่วงต้นปีก่อนการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของการบินไทยในขณะนี้แม้ยังไม่ทำกำไร แต่ถือว่าขาดทุนลดลง

แผนฟื้นฟูฯเดินมาถูกทาง–กลับมายืนได้แล้ว

ข่าวเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ การฟื้นตัวของผู้โดยสารขณะนี้ที่ทำการบินยังไม่ครบทุกเส้นทางที่เคยมี เครื่องบินมีกว่า 61 ลำ ยังเอามาบินไม่ครบ ยังส่งผลให้กระแสเงินสด (แคชโฟว์) ของการบินไทยเพิ่มขึ้นสูงมาอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเพียงพอในการบริหารจัดการองค์กร ส่งผลให้การบินไทยจึงไม่ได้มีความเร่งด่วนในการจัดหาเพิ่มทุนใหม่ ขณะที่สถาบันการเงินพร้อมให้การบินไทยกู้ แต่การบินไทยมองว่าในขณะนี้แทบไม่มีความจำเป็นกู้ เพราะกระแสเงินสภาพคล่องมาก แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้องค์กรยั่งยืนและสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ การบินไทยก็ยังคงต้องจัดหาทุนใหม่จำนวน 25,000 ล้านบาท ตามรายละเอียดที่ยื่นปรับปรุงแผนฟื้นฟูฉบับล่าสุดไปก่อนหน้า นายสุวรรธนะ กล่าวด้วยว่า ในแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยฉบับล่าสุด ที่ศาลล้มละลายได้อนุมัติให้การบินไทยปรับปรุงนั้น จะต้องดำเนินการจัดหาทุนใหม่ตามกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิมในวงเงิน 25,000 ล้านบาท ภายในปี 67 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 50,000 ล้านบาท โดยปัจจุบัน การบินไทยอยู่ระหว่างเตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อเข้ามาช่วยดำเนินการในส่วนนี้ เพื่อจัดหาเงินทุนใหม่ระยะเร่งด่วนที่การบินไทยวางแผนไว้ที่ 12,500 ล้านบาท นำวงเงินดังกล่าวมาเสริมสภาพคล่อง และคาดว่าจะนำเงินส่วนนี้ใช้ในปี 66 ส่วนนี้ทางที่ปรึกษาทางการเงินจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ในการทำแผนจัดหาวงเงินทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นจะจัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท มั่นใจกำไร-กลับมาซื้อขายในตลาดฯปี 68 นอกจากนี้ ตามแผนฟื้นฟู การบินไทยยังได้เตรียมจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย และยังต้องดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น หรือประมาณ 336,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นมีทุนเป็นบวก เพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง โดยการบินไทยตั้งเป้าหมายว่า ในส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 67 และจะกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในปี 68 เพราะแนวโน้มการดำเนินงานในขณะนี้เป็นไปด้วยดี การบินไทยมีความสามารถในทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าจะสามารถกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ บริษัทจะต้องเพิ่มทุนได้ และมีสภาพทำกำไรได้ดีต่อเนื่อง เป็นต้น.

แนะนำข่าวเศรษฐศาสตร์ อ่านเพิ่มเติมคลิกเลย : กรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง จัดสัมมนา

You may also like...